top of page

เกี่ยวกับเรา

ประวัติห้องสมุดเฉลิมพระเกียรติโรงเรียนนวมินทราชินูทิศ เตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า

วันที่ 1 พฤศจิกายน 2536 เปิดบริการห้องสมุดโรงเรียนนวมินทราชินูทิศ เตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า โดยผู้อำนวยการสุกัญญา สันติพัฒนาชัย

มอบหมายให้ครูมิ่งขวัญ ศิริโชติ ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้างานห้องสมุด เปิดดำเนินการโดยใช้ห้องสมุดชั่วคราวขนาด 1 ห้องเรียน ของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า หลังจากเปิดดำเนินการได้เพียง 20 วัน ผู้อำนวยการสุกัญญา สันติพัฒนาชัย เล็งเห็นความสำคัญของการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาระบบงานห้องสมุด จึงมอบหมายให้งานห้องสมุดจัดเก็บข้อมูลและลงทะเบียนหนังสือโดยใช้คอมพิวเตอร์ และส่งเสริมให้ ครูมิ่งขวัญ ศิริโชติ ไปศึกษาดูงานที่ห้องสมุดทั้งในและต่างประเทศ และอบรมคอมพิวเตอร์เพื่อพัฒนาความรู้ ทำให้เกิดการพัฒนางานและนำความรู้มาใช้ในการปฏิบัติงาน

     วันที่ 1 ตุลาคม 2537 โรงเรียนได้ย้ายมาอยู่ในหมู่บ้านสัมมากร โรงเรียนกำหนดให้ห้องสมุดอยู่ชั้น 2 ของอาคาร 7 ชั้น มีพื้นที่ประมาณ 7 ห้องเรียน งานห้องสมุดได้รับความร่วมมือจากงานคอมพิวเตอร์ของโรงเรียนนำโดย ครูทวีป แจ่มอุทัย ในการคิดเพื่อเขียนโปรแกรมระบบงานห้องสมุดโดยใช้คอมพิวเตอร์ในการให้บริการยืม–คืนหนังสือ โดยใช้ระบบบาร์โค้ดให้ชื่อว่า “โปรแกรมบาร์โค้ดห้องสมุดโรงเรียนนวมินทราชินูทิศ เตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า”

     วันที่ 8 ธันวาคม 2540 ผู้อำนวยการภรภัทร สิทธิวงศ์ ได้ให้การสนับสนุนการพัฒนางานห้องสมุด โดยส่วนหนึ่งได้รับเงินบริจาคจากกองทุนคุณย่าฉวี ทัศนปรีดา เป็นเงิน 1,234,000 บาท เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2542 เพื่อนำมาพัฒนาห้องสมุดให้มีบรรยากาศที่ดีและเหมาะสมต่อการอ่าน และปรับเป็นห้องสมุดยุคข้อมูลข่าวสาร (IT) โดยนักเรียนได้รับประโยชน์สูงสุดในด้านการค้นคว้าจากระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตเพิ่มเติมนอกเหนือจากสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ

     วันที่ 17 ธันวาคม 2545 ผู้อำนวยการวิศัลย์ โกมุทพงศ์ ได้มอบหมายให้ครูกมลชนก คชทรัพย์ ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้างานห้องสมุด และได้รับการสนับสนุนให้มีการพัฒนาการให้บริการยืม–คืนหนังสือ ด้วยระบบฟิงเกอร์สแกนด์ ส่งผลให้เกิดความสะดวกและรวดเร็วในการให้บริการแบบ One Stop Service 

     วันที่ 27 พฤศจิกายน 2549 ผู้อำนวยการสมพงษ์ พลสูงเนิน ได้สนับสนุนให้ครูบรรณารักษ์ ไปศึกษาดูงานแหล่งเรียนรู้ และห้องสมุดของสถาบันต่าง ๆ เพื่อนำมาพัฒนางานห้องสมุด ให้เป็น ห้องสมุดมีชีวิต (A Living Library) ได้แก่ การขยายพื้นที่การอ่านไปยังระเบียงห้องสมุด และจัดภูมิทัศน์ให้เป็นห้องสมุดมีชีวิต การจัดให้มีระบบอินเตอร์เน็ตไร้สาย การจัดให้มีทรัพยากรสารสนเทศอย่างหลากหลาย เพื่อให้เป็นแหล่งค้นคว้าแก่นักเรียนอย่างสมบูรณ์ อีกทั้งมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านตลอดปีการศึกษา เพื่อปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้แก่นักเรียน ซึ่งเป็นการพัฒนาที่ครบองค์ประกอบของห้องเรียนคุณภาพ

     วันที่ 1 ตุลาคม 2551 ผู้อำนวยการศิริพันธุ์ สุพรรณนพ ได้ให้การสนับสนุนและยกระดับการพัฒนาห้องสมุดมีชีวิต เป็นห้องสมุด 3 D สอดคล้องกับนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 ส่วน คือ หนังสือดี บรรยากาศดี และบรรณารักษ์ดี เพื่อให้นักเรียนได้มีหนังสือประกอบการอ่าน และการค้นคว้าที่ตรงตามความต้องการในปริมาณที่เพียงพอ ในบรรยากาศของห้องสมุดที่เอื้อต่อการเรียนรู้ โดยมีครูบรรณารักษ์ ที่จบวิชาชีพบรรณารักษศาสตร์ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม เป็นผู้ดำเนินงานด้านการบริหาร งานเทคนิค และงานบริการ อีกทั้งมีการให้บริการเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาค้นคว้า สืบค้นข้อมูลหนังสือ แสดงรายการหนังสือใหม่ และส่วนแสดงข้อมูลสมาชิก จากระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ได้อย่างสมบูรณ์ ส่งผลให้นักเรียนได้รับประโยชน์สูงสุดจากการอ่านและการศึกษาค้นคว้าอย่างมีความสุข

     วันที่ 17 ธันวาคม 2558 ผู้อำนวยการสุรพล พาลี ท่านเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาห้องสมุดให้สอดคล้องกับการศึกษาในศตวรรษที่ 21

จึงได้ให้การสนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาห้องสมุด ให้เป็น ห้องสมุดดิจิตอล (Digital Library) หรือห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Library) โดยเพิ่มการจัดเก็บและการให้บริการทรัพยากรห้องสมุด ในรูปอิเล็กทรอนิกส์ หรือในรูปดิจิตอล มีการให้บริการสารสนเทศในลักษณะสื่อประสม (Multimedia) เพิ่มมากขึ้น

bottom of page